ประวัติพ่อขุนผาเมือง

ประวัติ
          ราชวงศ์สุโขทัยมีประวัติปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 2 (จารึกวัดศรีชุม) ใจความว่า ผู้ตั้งราชวงศ์มี 2 คน ด้วยกัน คือ พ่อขุนผาเมือง และพ่อขุนบางกลางหาว ได้ช่วยกันตั้งราชวงศ์ขึ้นเมื่อพ.ศ. 1800 พ่อขุนผาเมืองเป็นลูกพ่อขุนศรีนาวนำถม ซึ่งเป็นเจ้าเมืองสุโขทัยในครั้งนั้นเมืองสุโขทัยยังเป็นเมืองประเทศราชของขอมอยู่ 
          พ่อขุนผาเมืองนั้น พระเจ้ากรุงกัมพูชาพระราชทานนามว่า กมรเตงอัญศรีอินทรปตินทราทิตย์ และได้พระราชทานพระราชธิดาองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระนางสิงขรมหาเทวี พ่อขุนผาเมืองเป็นเจ้าเมืองราด ส่วนพ่อขุนบางกลางหาวนั้นเป็นเจ้าเมืองบางยาง (แต่เดิมนั้น เรียกชื่อพ่อขุนบางกลางหาวว่า บางกลางทาว หรือ บางกลางท่าว ต่อมา ดร. ประเสริฐ ณ นคร ตรวจสอบอักษรที่จารึกใหม่พบว่า แท้ที่จริง จารึกเขียนว่า บางกลางหาว เพราะที่อ่านกันแต่เดิมนั้น เข้าใจผิดไปว่าเป็น “ท ทหาร” ที่แท้คือ ” ห หีบ” และ”ไม้เอก” ก็ไม่มี) ครั้งนั้นเมืองสุโขทัยมีข้าหลวงเขมรชื่อ โขลญลำพง เป็นผู้รักษาเมืองหรือสำเร็จราชการอยู่ พ่อขุนบางกลางหาวเป็นมิตรสหายของพ่อขุนผาเมือง ทั้งสองได้ตั้งใจตีเมืองสุโขทัย พ่อขุนบางกลางหาวได้เมืองศรีสัชนาลัย ส่วนพ่อขุนผาเมืองเมื่อได้เมืองบางขลังแล้วก็นำพลมาทางเมืองราด เมืองศรีสัชนาลัยถึงเมืองสุโขทัย ข้าหลวงขอมไม่อาจสู้ได้ ต้องยอมแพ้และทิ้งเมืองสุโขทัยไป
          เมื่อได้เมืองสุโขทัยแล้วพ่อขุนผาเมืองได้นำพลออกและได้อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวให้เป็นเจ้าเมืองสุโขทัย ถวายพระนามตามพระนามของตนที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้ากรุงกัมพูชาว่า “กมรเดงอัญศรีอินทรปตินทราทิตย์” (ในตอนต้นศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง เรียกโดยย่อว่า ศรีอินทราทิตย์ เป็นพระนามพระราชบิดาของพ่อขุนรามคำแหง) พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์สุโขทัยนั้น ในหนังสือชินกาลมาลินี และสิหิงคนิทาน เรียกว่า โรจนราช หรือสุรางคราช คือ พระร่วง (สำหรับพระนามพระร่วงนี้มีหลักฐานไม่แน่ชัดว่า หมายจำเพาะเจาะจงว่าเป็นองค์ใด บ้างก็ว่าหมายถึงพระเจ้าศรีอินทราทิตย์ บ้างก็ว่า หมายถึงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และบ้างก็ว่าหมายถึงกษัตริย์ทุกพระองค์ในราชวงศ์พระร่วง)
          พระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราชตามความปรากฏในจารึกหลักที่ 1มีใจความว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์มีพระโอรสด้วยพระชายาพระนามว่า นางเสือง 3 องค์ พระองค์ใหญ่สิ้นพระชนม์เสียตั้งแต่ยังเยาว์ พระองค์กลางทรงพระนามว่า บาลเมือง (ในหนังสือชินกาลมาลินีและสิงคนิทาน เรียกว่า ปาลราช) องค์ที่สามได้เสวยราชย์ต่อมาทรงพระนามว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงด้านที่ 2-3-4 และในคำนำไตรภูมิพระร่วงเรียกว่า รามราช) 
          พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงพระราชสมภพปีใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอน ตามหลักฐานพงศาวดารเมืองเหนือ คือ พงศาวดารเมืองโยนก กล่าวว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเป็นพระสหายสนิทและรุ่นราวคราวเดียวกับพญาเม็งราย เจ้าเมืองเชียงใหม่ และพญางำเมือง เจ้าเมืองพะเยา ทรงศึกษาเล่าเรียนอยู่ในสำนักสุกกทันตฤาษี ณ เมือง ละโว้ (ลพบุรี) เป็นศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกับพญางำเมือง ในขณะที่ทรงเล่าเรียนศิลปวิทยาอยู่ร่วมกันนั้นพญางำเมืองเจริญพระชันษาได้ 16 ปี
          เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ประกาศตั้งกรุงสุโขทัยเป็นอิสระแล้ว ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดได้ยกกองทัพมาตีเมืองตากอันเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศตะวันตกของกรุงสุโขทัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ยกกองทัพออกไปสู้รบกับขุนสามชน และพระราชโอรสองค์ที่สามซึ่งเจริญพระชันษาย่างเข้า 19 ปี ทรงเป็นนักรบที่เข้มแข็งในการสงครามเข้าชนช้างชนะขุนสามชน พวกเมืองฉอดจึงได้แตกพ่ายไป เมื่อชนช้างชนะขุนสามชนคราวนั้นแล้ว พ่อขุนศรีอินทราทิตย์พระราชบิดาจึงพระราชทานเจ้ารามเป็น “พระรามคำแหง” ซึ่งคงจะหมายความว่าพระรามผู้เข้มแข็ง หรือ เจ้ารามผู้เข้มแข็ง
          พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์องค์ที่สามแห่งราชวงศ์พระร่วง ศักราชที่ปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1) คือ มหาศักราช 1205 (พ.ศ. 1826) นั้นเป็นปีที่พระองค์ได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น มหาศักราช 1207 (พ.ศ. 1828) ทรงสร้างพระมหาธาตุเมืองศรีสัชนาลัย (เข้าใจว่า คือ พระเจดีย์ที่วัดช้างล้อม ในปัจจุบัน) มหาศักราช 1214 (พ.ศ. 1835) โปรดให้สร้างแท่นหิน ชื่อ พระแท่นมนังศิลาบาตร และสร้างศาลา 2 หลังชื่อ ศาลาพระมาสและพุทธศาลา ประดิษฐานไว้กลางดงตาล เพื่อเป็นที่ประทับว่าราชการและทรงสั่งสอนข้าราชการและประชาชนในวันธรรมดา ส่วนวันอุโบสถโปรดให้พระสงฆ์นั่งสวดพระปาติโมกข์และแสดงธรรม รัชสมัยของพระองค์รุ่งเรืองยิ่งกว่ารัชกาลใด ๆ ราชอาณาเขตแผ่ขยายไปกว้างขวาง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขอย่างที่เรียกกันว่า “ไพร่ฟ้าหน้าใส” การพาณิชย์เจริญก้าวหน้า ศิลปวิทยาเจริญรุ่งเรืองหลายประการ กล่าวคือ

 

ประวัติพ่อขุนรามคำแหง

พระราชประวัติ        พระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราชตามความปรากฏในจารึกหลักที่ 1

 

มีใจความว่า  พ่อขุนศรีอินทราทิตย์มีพระโอรสด้วยพระชายา
พระนามว่า นางเสือง 3 องค์ 

 
พระองค์ใหญ่สิ้นพระชนม์เสียตั้งแต่ยังเยาว์

 
พระองค์กลางทรงพระนามว่าบาลเมือง (ในหนังสือชินกาลมาลินีและสิงคนิทานเรียกว่า ปาลราช)

องค์ที่สามได้เสวยราชย์ต่อมาทรงพระนามว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

 

 
 

 

 
ภาพถอดตัวอักษรบางส่วน จากหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ด้านที่ 1

 

 “ พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง ตูพี่น้องท้องเดียวห้าคน

ผู้ชายสาม ผู้หญิงสอง พี่เผือผู้อ้าย ตายจากเผือเตียมแต่ยังเล็ก   เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า

ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาท่เมืองตาก พ่อกูไปรบขุนสามชนหัวซ้าย ขุนสามชนขับมาหัวขวา

ขุนสามชนเกลื่อนเข้า ไพร่ฟ้าหน้าใสพ่อกู หนีญญ่ายพ่ายจะแจ กูบ่หนี กูขี่ช้างเบกพล

กูขับเข้าก่อนพ่อกู กูต่อช้างด้วยขุนสามชน ตนกูพุ่งช้างขุนสามชนตัวชื่อมาสเมืองแพ้

ขุนสามชนพ่ายหนี พ่อกูจึงขึ้นชื่อกู ชื่อพระรามคำแหง เพื่อกูพุ่งช้างขุนสามชน ” 

 

อาณาเขต

 สมัยนี้เป็นยุคที่สุโขทัยเจริญรุ่งเรืองมากทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา และวัฒนธรรม

โดยเฉพาะการประดิษฐ์อักษรไทยใน พ.ศ.1826 ดัดแปลงมาจากขอม เป็นการแสวงหาวิธีการ

ที่จะให้ได้มาซึ่งเอกลักษณ์ของชาวไทย เพื่อให้ต่างไปจากขอมซึ่งมีอิทธิพลครอบงำขณะนั้น

รวมทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรม ขนบประเพณีและการปกครอง โดยเฉพาะการขยาย

พระราชอาณาเขตออกไปกว้างขวาง 

 

 การปกครอง

 ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงวางพระองค์

อย่างบิดาปกครองบุตรด้วยการสอดส่องความเป็นอยู่ของราษฎร ใครทุกข์ร้อนจะทูลร้องทุกข์

เมื่อใดก็ได้โปรดให้แขวนกระดิ่งที่ประตูพระราชวัง เมื่อราษฎรมีทุกข์ก็ไปสั่นกระดิ่งนั้นให้ได้ยิน

ถึงพระกรรณได้เป็นนิจ ซึ่งวิธีการนี้เป็นที่มาของประเพณีซึ่งเรียกกันว่า “ตีกลองร้องฎีกา”  

 

 

การต่างประเทศ     

 ใน พ.ศ. 1835 ปรากฏในหลักฐานของจีนว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์สุโขทัยได้ส่ง

ทูตพร้อมด้วยพระราชสาส์นอักษรทองคำเป็นการเจริญพระราชไมตรีกับจีน

หลังจากนั้นในปี พ.ศ.1836

คณะทูตจีนก็เดินทางมาสุโขทัยอัญเชิญพระบรมราชโองการของจักรพรรดิจีน

ให้พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ไปเฝ้า แต่พระองค์มิได้ปฏิบัติตามแต่ประการใด

สรุปในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ส่งทูตเจริญราชไมตรีกับจีน 4 ครั้ง

คือ พ.ศ.1835, พ.ศ.1837, พ.ศ.1838, พ.ศ.1840  

 

 การพาณิชย์      

 สมัยสุโขทัยมีการพาณิชย์แบบเสรี มีตลาดมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน เจ้าเมืองมิได้เก็บภาษี

อากรแต่อย่างใด ดังความตอนหนึ่งในศิลาจารึกว่า  

“…เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีตลาดปสาน …”  

(คณะกรรมการชำระพจนานุกรมแห่งราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายของคำว่า ปสาน ว่า

คือ ตลาดของแห้ง ที่ขายของแห้ง เทียบกับคำว่า bazaar ในภาษาเปอร์เซีย)  

และความอีกตอนหนึ่งว่า

“…เมื่อชั่วพ่อขุนราม เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีเข้า

เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ ลูท่างเพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย

ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า

ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทอง ค้า…” 

 

ที่มา http://irrigation.rid.go.th/rid15/ppn/Datebook/17%20January/PoKunram.htm

 

******************************************
 

ประวัติพ่อขุนบางกลางท่าว

พระราชประวัติพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ “พ่อขุนบางกลางท่าว”

เมืองนครไทย Nakhonthai_E-Book
http://issuu.com/nakhonthai

พระราชประวัติพ่อขุนศรีอินทราทิตย์
พระบรมนามาภิไธย พ่อขุนบางกลางหาว (เจ้าเมืองบางยาง)
พระปรมาภิไธย กำมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์
ราชวงศ์ ราชวงศ์พระร่วง
ระยะครองราชย์ ไม่ทราบ
พระมเหสี พระนางเสือง
พระราชโอรส/ธิดา มีพระราชโอรสและพระธิดารวม 5 พระองค์

พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ หรือพระนามเต็ม กำมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์ พระนามเดิม พ่อขุนบางกลางท่าว ทรงเป็นปฐมวงศ์ราชวงศ์พระร่วงแห่งอาณาจักรสุโขทัย ครองราชสมบัติ ตั้งแต่ พ.ศ. 1792 (คำนวณศักราชจากคัมภีร์สุริยยาตรตามข้อเสนอของ ศ. ประเสริฐ ณ นครและ พ.อ.พิเศษ เอื้อน มณเฑียรทอง) แต่ไม่ปรากฏหลักฐานการสวรรคตหรือสิ้นสุดการครองราชสมบัติปีใด

พระนาม
1.บางกลางหาว
2.ศรีอินทราทิตย์
3.อรุณราช
4.ไสยรังคราช หรือสุรังคราช หรือไสยนรงคราช หรือรังคราช
5.พระร่วง หรือโรจนราช
สำหรับพระนามแรก คือ พ่อขุนบางกลางหาวนั้น เป็นพระนามดั้งเดิมเมื่อครั้งเป็นเจ้าเมืองบางยาง พระนามนี้ไม่มีปัญหาอะไรมากนัก และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า พ่อขุนบางกลางหาวเป็นพระนามสมัยเป็นเจ้าเมืองบางยางโดยแท้จริง

พระนามที่สองนั้น เป็นพระนามที่ใช้กันทางราชการ เป็นพระนามที่เชื่อกันว่าทรงใช้เมื่อราชาภิเษกแล้ว คำว่าศรีอินทราทิตย์นั้น ไมมีปัญหา เพราะมีบ่งอยู่ในศิลาจารึก แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ คำที่นำหน้า คำว่า “ศรีอินทราทิตย์” เพราะเรียกแตกต่างกันไปว่า ขุนศรีอินทราทิตย์บ้าง พ่อขุนศรีอินทราทิตย์บ้าง พระเจ้าศรีอินทราทิตย์บ้าง และบางทีก็เรียกพระเจ้าขุนศรีอินทราทิตย์

พระนางเสือง
นางเสือง หรือที่ชาวสุโขทัยนิยมเรียกว่า พระแม่ย่า คือพระมเหสีของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นพระมารดาของพ่อขุนบาลเมือง และพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ตามที่ศิลาจารึกหลักที่ 1 ได้กล่าวไว้ว่า “…เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้มีกุฎี พิหาร ปู่ครู มีสรีดภงส์ มีป่าพร้าว มีป่าลาง มีป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขพุงผี เทพดาในเขาอันนั้นเป็นใหญ่กว่าผีทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขไทนี้แล้ ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดี พลีบ่ถูก ผีในเขาอันนั้นบ่คุ้มเกรงเมืองนี้หาย…”
คำว่า “พระขพุงผี” แปลว่าผีที่เป็นใหญ่กว่าผีทั้งหลาย ซึ่งมีการตีความว่าเป็น ผีพระแม่ย่า หรือ นางเสืองนั่นเอง
สาเหตุที่เรียกว่า “พระแม่ย่า” เนื่องจากคนสมัยก่อนนับถือกษัตริย์ว่าเป็นพ่อ ดังนั้นแม่ของพ่อ(กษัตริย์)จึงเรียกว่า ย่า แปลโดยรวมว่า ย่าผู้เป็นแม่ของพระมหากษัตริย์
ต่อมามีการค้นพบเทวรูปที่สันนิษฐานว่าเป็นรูปสลักนางเสืองอยู่ที่ถ้ำพระแม่ย่าบนเขาพระแม่ย่า ในอุทยานแห่งชาติรามคำแหง และนำมาประดิษฐานไว้ที่ศาลพระแม่ย่าที่หน้าศาลากลางจังหวัดสุโขทัยจวบจนปัจจุบันนี้
ของที่นิยมนำมาถวายแก้บนเทวรูปพระแม่ย่าคือ ขนมหม้อแกง
ทางจังหวัดจะมีการจัดงานสักการะพระแม่ย่าพร้อมกับงานกาชาดราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ทุกๆ ปี
ปัจจุบันมีการนำลักษณะเครื่องแต่งกายของเทวรูปพระแม่ย่าไปประยุกต์เป็นชุดของนางระบำในระบำสุโขทัย

แหล่งข้อมูล : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประวัติศาสตร์ก่อนสมัยกรุงสุโขทัย

ความเจริญของอาณาจักรน่านเจ้า
ตามบันทึกของจีนโบราณกล่าวไว้ว่า นอกจากน่านเจ้าจะเป็นอาณาจักรใหญ่ที่มีประชากร หนาแน่นแล้ว ยังมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างสูง ทางด้านการปกครองได้จัดแบ่งออกเป็น 9 กระทรวง คือ กระทรวงว่าการทหาร กระทรวงจัดการสำมะโนครัว กระทรวงราชประเพณี กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงโยธา กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงการต่างประเทศ มีเจ้าพนักงานสำหรับสอบคัดเลือกผู้เข้ารับราชการ กองทหารก็จัดเป็น หมู่ หมวด กองร้อย กองพัน มีธงประจำกอง ทหารแต่งกายด้วยเสื้อกางเกงทำด้วยหนังสัตว์ สวมหมวกสีแดงมียอด ถือโลห์หนังแรด มีหอกหรือขวานเป็นอาวุธ หากใครมีม้าก็เป็นทหารม้า ทรัพย์สินของรัฐมียุ้งฉางสำหรับเสบียงของหลวง มีโรงม้าหลวง มีการเก็บภาษีอากร มีการแบ่งปันที่นาให้ราษฎรตามส่วน อาชีพทั่วไปของราษฎรคือการเพาะปลูก เมื่อรู้จักปลูกฝ้ายก็มีการทอผ้า นอกจากนั้นก็มีอาชีพขุดทอง

ศาสนาประจำชาติ ส่วนมากนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน รวมทั้งนับถือศาสนาเดิมที่นับถือบรรพบุรุษ
การศึกษา ชนชาติไทยในสมัยน่านเจ้า มีภาษาใช้ประจำชาติโดยเฉพาะแล้ว แต่เรื่องของตัวหนังสือเรายังไม่สามารถทราบได้ว่ามีใช้หรือยัง
ชนชาติต่าง ๆ ในแหลมสุวรรณภูมิก่อนที่ไทยจะอพยพมาอยู่
ชนชาติดั้งเดิม และมีความเจริญน้อยที่สุดก็คือพวก นิโกรอิด (Negroid) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของ พวกเงาะ เช่น เซมัง ซาไก (Sakai) ปัจจุบันชนชาติเหล่านี้มีเหลืออยู่น้อยเต็มที แถวปักษ์ใต้อาจมีเหลืออยู่บ้าง ในเวลาต่อมาชนชาติที่มีอารยธรรมสูงกว่า เช่น มอญ ขอม ละว้า ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐาน
ขอม มีถิ่นฐานทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแหลมสุวรรณภูมิ ในบริเวณแม่น้ำโขงตอนใต้ และทะเลสาบเขมร
ลาวหรือละว้า มีถิ่นฐานอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นดินแดนตอนกลางระหว่างขอมและมอญ
มอญ มีถิ่นฐานอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำอิรวดี
ทั้งสามชาตินี้มีความละม้ายคล้ายคลึงกันมาก ตั้งแต่รูปร่าง หน้าตา ภาษา และขนบธรรมเนียมประเพณีสันนิษฐานได้ว่า น่าจะเป็นชนชาติเดียวกันมาแต่เดิม
อาณาจักรละว้า เมื่อประมาณ พ.ศ.700 ชนชาติละว้าซึ่งเข้าครอบครองถิ่นเจ้าพระยา ได้ตั้งอาณาจักรใหญ่ขึ้นสามอาณาจักรคือ
อาณาจักรทวาราวดี มีอาณาเขตประมาณตั้งแต่ราชบุรี ถึงพิษณุโลก มีนครปฐมเป็นเมืองหลวง
อาณาจักรโยนกหรือยาง เป็นอาณาจักรทางเหนือในเขตพื้นที่เชียงราย และเชียงแสน มีเงินยางเป็นเมืองหลวง
อาณาจักรโคตรบูรณ์ มีอาณาเขตตั้งแต่นครราชสีมาถึงอุดรธานี มีนครพนมเป็นเมืองหลวง
อารยธรรมที่นำมาเผยแพร่ แหลมสุวรรณภูมิได้เป็นศูนย์กลางการค้าของจีน และอินเดียมาเป็นเวลาช้านาน จนกลายเป็นดินแดนแห่งอารยธรรมผสมด้วยความอุดมสมบูรณ์ของบริเวณนี้ เป็นเหตุดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาอาศัย และติดต่อค้าขาย นับตั้งแต่ พ.ศ.300 เป็นต้นมา ได้มีชาวอินเดียมาอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิเป็นจำนวนมากขึ้นตามลำดับ รวมทั้งพวกที่หนีภัยสงครามทางอินเดียตอนใต้ ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์แห่งแคว้นโกศลได้กรีฑาทัพไปตีแคว้นกลิงคราฎร์ ชาวพื้นเมืองอินเดียตอนใต้ จึงอพยพเข้ามาอยู่ที่พม่า ตลอดถึงพื้นที่ทั่วไปในแหลมมลายู และอินโดจีน อาศัยที่พวกเหล่านี้มีความเจริญอยู่แล้ว จึงได้นำเอาวิชาความรู้และความเจริญต่างๆ มาเผยแพร่ คือ
ศาสนาพุทธ พระพุทธศาสนา ซึ่งเหมาะสมในทางอบรมจิตใจ ให้ความสว่างกระจ่างในเรื่อง บาป บุญ คุณ โทษ สันนิษฐานว่า พุทธศาสนาเข้ามาเผยแผ่เป็นครั้งแรกโดย พระโสณะ และพระอุตระ ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย
ศาสนาพราหมณ์ มีความเหมาะสมในด้านการปกครอง ซึ่งต้องการความศักดิ์สิทธิ์ และเด็ดขาด ศาสนานี้สอนให้เคารพในเทพเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร พระพรหม และพระนารายณ์
นิติศาสตร์ ได้แก่การปกครอง ได้วางแผนการปกครองหัวเมืองตลอดจนการตั้งมงคลนาม ถวายแก่พระมหากษัตริย์ และตั้งชื่อเมือง
อักษรศาสตร์ พวกอินเดียตอนใต้ได้นำเอาตัวอักษรคฤณฑ์เข้ามาเผยแพร่ ต่อมาภายหลังได้ดัดแปลงเป็นอักษรขอม และอักษรมอญ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทย โดยดัดแปลงจากอักษรขอม เมื่อปี พ.ศ. 1823
ศิลปศาสตร์ ได้แก่ฝีมือในการก่อสร้าง แกะสลัก ก่อพระสถูปเจดีย์ และหล่อพระพุทธรูป

การแผ่อำนาจของขอมและพม่า
ประมาณปี พ.ศ.601 โกณฑัญญะ ซึ่งเป็นชาวอินเดียได้สมรสกับนางพญาขอมและต่อมาได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ครอบครองดินแดนของนางพญาขอม จัดการปกครองบ้านเมืองด้วยความเรียบร้อย ทำนุบำรุงกิจการทหาร ทำให้ขอมเจริญขึ้นตามลำดับ มีอาณาเขตแผ่ขยายออกไปมากขึ้น ในที่สุดก็ได้ยกกำลังไปตีอาณาจักรโคตรบูรณ์ ซึ่งเป็นอาณาจักรที่อยู่ทางเหนือของละว้าไว้ได้แล้วถือโอกาสเข้าตีอาณาจักรทวาราวดี
ต่อมาเมื่อประมาณปีพ.ศ.1600 กษัตริย์พม่าผู้มีความสามารถองค์หนึ่ง คือ พระเจ้าอโนธรามังช่อ ได้ยกกองทัพมาตีอาณาจักรมอญ เมื่อตีอาณาจักรมอญไว้ในอำนาจได้ แล้วก็ยกทัพล่วงเลยเข้ามาตีอาณาจักรทวาราวดีและมีอำนาจครอบครองตลอดไปทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อำนาจของขอมก็สูญสิ้นไป แต่เมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าอโนธรามังช่อ อำนาจของพม่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก็พลอยเสื่อมโทรมดับสูญไปด้วย เพราะกษัตริย์พม่าสมัยหลังเสื่อมความสามารถ และมักแย่งชิงอำนาจซึ่งกันและกัน เปิดโอกาสให้แว่นแคว้นต่างๆ ที่เคยเป็นเมืองขึ้น ตั้งตัวเป็นอิสระได้อีก ในระหว่างนี้ พวกไทยจากน่านเจ้า ได้อพยพเข้ามาอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิเป็นจำนวนมากขึ้น เมื่อพม่าเสื่อมอำนาจลง คนไทยเหล่านี้ก็เริ่มจัดการปกครองกันเองในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฝ่ายขอมนั้นเมื่อเห็นพม่าทอดทิ้งแดนละว้าเสียแล้ว ก็หวลกลับมาจัดการปกครองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอีกวาระหนึ่ง โดยอ้างสิทธิแห่งการเป็นเจ้าของเดิม อย่างไรก็ตามอำนาจของขอมในเวลานั้นก็ซวดเซลงมากแล้วแต่เนื่องจากชาวไทยที่อพยพเข้ามาอยู่ยังไม่มีอำนาจเต็มที่ ขอมจึงบังคับให้ชาวไทยส่งส่วยให้ขอม พวกคนไทยที่อยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้ ไม่กล้าขัดขืน ยอมส่งส่วยให้แก่ขอมโดยดี จึงทำให้ขอมได้ใจ และเริ่มขยายอำนาจขึ้นไปทางเหนือ ในการนี้เข้าใจว่าบางครั้งอาจต้องใช้กำลังกองทัพเข้าปราบปราม บรรดาเมืองที่ขัดขืนไม่ยอมส่งส่วย ขอมจึงสามารถแผ่อำนาจขึ้นไปจนถึงแคว้นโยนก
ส่วนแคว้นโยนกนั้น ถือตนว่าไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของขอมมาก่อน จึงไม่ยอมส่งส่วยให้ตามที่ขอมบังคับ ขอมจึงใช้กำลังเข้าปราบปรามนครโยนกได้สำเร็จพระเจ้าพังคราช กษัตริย์แห่งโยนกลำดับที่ 43 ได้ถูกเนรเทศไปอยู่ที่เมืองเวียงสีทอง

แคว้นโยนกเชียงแสน (พ.ศ. 1661 – 1731)
ดังได้ทราบแล้วว่าโอรสของพระเจ้า พีล่อโก๊ะ องค์หนึ่ง ชื่อพระเจ้าสิงหนวัติ ได้มาสร้างเมืองใหม่ขึ้นทางใต้ ชื่อเมืองโยนกนาคนคร เมืองดังกล่าวนี้อยู่ในเขตละว้า หรือในแคว้นโยนก เมื่อประมาณปี พ.ศ.1111 เป็นเมืองที่สง่างามของย่านนั้น ในเวลาต่อมาก็ได้รวบรวมเมืองที่อ่อนน้อมตั้งขึ้นเป็นแคว้น ชื่อโยนกเชียงแสน มีอาณาเขตทางทิศเหนือตลอดสิบสองปันนาทางใต้จดแคว้นหริภุญชัย มีกษัตริย์สืบเชื้อสายต่อเนื่องกันมา จนถึงสมัยพระเจ้าพังคราชจึงได้เสียทีแก่ขอมดังกล่าวแล้ว
อย่างไรก็ตามพระเจ้าพังคราชตกอับอยู่ไม่นานนัก ก็กลับเป็นเอกราชอีกครั้งหนึ่งด้วยพระปรีชาสามารถของพระโอรสองค์น้อย คือ พระเจ้าพรหม ซึ่งมีอุปนิสัยเป็นนักรบ และมีความกล้าหาญ ได้สร้างสมกำลังผู้คน ฝึกหัดทหารจนชำนิชำนาญ แล้วคิดต่อสู้กับขอม ไม่ยอมส่งส่วยให้ขอม เมื่อขอมยกกองทัพมาปราบปราม ก็ตีกองทัพขอมแตกพ่ายกลับไปและยังได้แผ่อาณาเขตเลยเข้ามาในดินแดนขอม ได้ถึงเมืองเชลียง และตลอดถึงลานนา ลานช้าง แล้วอัญเชิญพระราชบิดา กลับไปครองโยนกนาคนครเดิม แล้วเปลี่ยนชื่อเมืองเสียใหม่ว่าชัยบุรี ส่วนพระองค์เองนั้นลงมาสร้างเมืองใหม่ทางใต้ชื่อเมืองชัยปราการ ให้พระเชษฐา คือ เจ้าทุกขิตราช ดำรงตำแหน่งอุปราช นอกจากนั้นก็สร้างเมืองอื่นๆ เช่น เมืองชัยนารายณ์ นครพางคำ ให้เจ้านายองค์อื่นๆ ปกครอง
เมื่อสิ้นรัชสมัยพระเจ้าพังคราช พระเจ้าทุกขิตราช ก็ได้ขึ้นครองเมืองชัยบุรี ส่วนพระเจ้าพรหมและโอรสของพระองค์ก็ได้ครองเมืองชัยปราการต่อมา ในสมัยนั้นขอมกำลังเสื่อมอำนาจ จึงมิได้ยกกำลังมาปราบปราม ฝ่ายไทยนั้น แม้กำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบ แต่ก็คงยังไม่มีกำลังมากพอที่จะแผ่ขยาย อาณาเขตลงมาทางใต้อีกได้ ดังนั้นอาณาเขตของไทยและขอมจึงประชิดกันเฉยอยู่
เมื่อสิ้นรัชสมัยพระเจ้าพรหม กษัตริย์องค์ต่อๆ มาอ่อนแอและหย่อนความสามารถ ซึ่งมิใช่แต่ที่นครชัยปราการเท่านั้น ความเสื่อมได้เป็นไปอย่างทั่วถึงกันยังนครอื่นๆ เช่น ชัยบุรี ชัยนารายณ์ และนครพางคำ ดังนั้นในปี พ.ศ.1731 เมื่อมอญกรีฑาทัพใหญ่มารุกรานอาณาจักรขอมได้ชัยชนะแล้ว ก็ล่วงเลยเข้ามารุกรานอาณาจักรไทยเชียงแสน ขณะนั้นโอรสของพระเจ้าพรหม คือ พระเจ้าชัยศิริ ปกครองเมืองชัยปราการ ไม่สามารถต้านทานศึกมอญได้ จึงจำเป็นต้องเผาเมือง เพื่อมิให้พวกข้าศึกเข้าอาศัย แล้วพากันอพยพลงมาทางใต้ของดินแดนสุวรรณภูมิ จนกระทั่งมาถึงเมืองร้างแห่งหนึ่งในแขวงเมืองกำแพงเพชร ชื่อเมืองแปป ได้อาศัยอยู่ที่เมืองแปปอยู่ห้วงระยะเวลาหนึ่งเห็นว่าชัยภูมิไม่สู้เหมาะ เพราะอยู่ใกล้ขอม จึงได้อพยพลงมาทางใต้จนถึงเมืองนครปฐมจึงได้พักอาศัยอยู่ ณ ที่นั้น
ส่วนกองทัพมอญ หลังจากรุกรานเมืองชัยปราการแล้ว ก็ได้ยกล่วงเลยตลอดไปถึงเมืองอื่น ๆ ในแคว้นโยนกเชียงแสน จึงทำให้พระญาติของพระเจ้าชัยศิริ ซึ่งครองเมืองชัยบุรี ต้องอพยพหลบหนีข้าศึกเช่นกัน ปรากฎว่าเมืองชัยบุรีนั้นเกิดน้ำท่วม บรรดาเมืองในแคว้นโยนกต่างก็ถูกทำลายลงหมดแล้ว พวกมอญเห็นว่าหากเข้าไปตั้งอยู่ก็อาจเสียแรง เสียเวลา และทรัพย์สินเงินทองเพื่อที่จะสถาปนาขึ้นมาใหม่ ดังนั้นพวกมอญจึงยกกองทัพกลับ เป็นเหตุให้แว่นแคว้นนี้ว่างเปล่า ขาดผู้ปกครองอยู่ห้วงระยะเวลาหนึ่ง
ในระหว่างที่ฝ่ายไทย กำลังระส่ำระสายอยู่นี้ เป็นโอกาสให้ขอมซึ่งมีราชธานีอุปราชอยู่ที่เมืองละโว้ ถือสิทธิ์เข้าครองแคว้นโยนก แล้วบังคับให้คนไทยที่ตกค้างอยู่นั้นให้ส่งส่วยให้แก่ขอม ความพินาศของแคว้นโยนกครั้งนี้ ทำให้ชาวไทยต้องอพยพแยกย้ายกันลงมาเป็นสองสายคือ สายของพระเจ้าชัยศิริ อพยพลงมาทางใต้ และได้อาศัยอยู่ชั่วคราวที่เมืองแปปดังกล่าวแล้ว ส่วนสายพวกชัยบุรีได้แยกออกไปทางตะวันออกของสุโขทัย จนมาถึงเมืองนครไทย จึงได้เข้าไปตั้งอยู่ ณ เมืองนั้นด้วยเห็นว่าเป็นเมืองที่มีชัยภูมิเหมาะสมเพราะเป็นเมืองใหญ่และตั้งอยู่สุดเขตของขอมทางเหนือ ผู้คนในเมืองนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นชาวไทย อย่างไรก็ตามในชั้นแรกที่เข้ามาตั้งอยู่นั้น ก็คงต้องยอมขึ้นอยู่กับขอม ซึ่งขณะนั้นยังมีอำนาจอยู่
ในเวลาต่อมาเมื่อคนไทยอพยพลงมาจากน่านเจ้าเป็นจำนวนมาก ทำให้นครไทยมีกำลังผู้คนมากขึ้น ข้างฝ่ายอาณาจักรลานนาหรือโยนกนั้น เมื่อพระเจ้าชัยศิริทิ้งเมืองลงมาทางใต้ แล้วก็เป็นเหตุให้ดินแดนแถบนั้นว่างผู้ปกครองอยู่ระยะหนึ่ง แต่ในระยะต่อมาชาวไทยที่ค้างการอพยพ อยู่ในเขตนั้นก็ได้รวมตัวกัน ตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นหลายแห่งตั้งเป็นอิสระแก่กัน บรรดาหัวเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นที่นับว่าสำคัญ มีอยู่สามเมืองด้วยกัน คือ นครเงินยาง อยู่ทางเหนือ นครพะเยา อยู่ตอนกลาง และเมืองหริภุญไชย อยู่ลงมาทางใต้ ส่วนเมืองนครไทยนั้นด้วยเหตุที่ว่ามีที่ตั้งอยู่ปลายทางการอพยพ และอาศัยที่มีราชวงศ์เชื้อสายโยนกอพยพมาอยู่ที่เมืองนี้ จึงเป็นที่นิยมของชาวไทยมากกว่าพวกอื่น จึงได้รับยกย่องขึ้นเป็นพ่อเมือง ที่ตั้งของเมืองนครไทยนั้นสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเมืองเดียวกันกับเมืองบางยาง ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ มีเมืองขึ้น และเจ้าเมืองมีฐานะเป็นพ่อขุน
เมื่อบรรดาชาวไทย เกิดความคิดที่จะสลัดแอก ของขอมครั้งนี้ บุคคลสำคัญในการนี้ก็คือ พ่อขุนบางกลางท่าว ซึ่งเป็นเจ้าเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราดได้ร่วมกำลังกันยกขึ้นไปโจมตีขอม จนได้เมืองสุโขทัยอันเป็นเมืองหน้าด่านของขอมไว้ได้ เมื่อปีพ.ศ.1800 การมีชัยชนะของฝ่ายไทยในครั้งนั้น นับว่าเป็นนิมิตหมายเบื้องต้น แห่งความเจริญรุ่งเรืองของชนชาติไทยและเป็นลางร้ายแห่งความเสื่อมโทรมของขอม เพราะนับแต่วาระนั้นเป็นต้นมา ขอมก็เสื่อมอำนาจลงทุกที จนในที่สุดก็สิ้นอำนาจไปจากดินแดนละว้าแต่ยังคงมีอำนาจปกครองเหนือลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนใต้อยู่

ประวัติผู้ปกครองกรุงสุโขทัย

ประวัติผู้ปกครองกรุงสุโขทัย
ประวัติกรุงสุโขทัย
กรุงสุโขทัยได้ถือกำเนิดขึ้นโดยได้มีผู้นำคนไทย ๒ คน คือ พ่อขุนบางกลางท่าว และ พ่อขุนผาเมือง ได้นำคนไทยเข้าต่อสู้กับขอมหลังจากที่คนไทยได้ถูกขอมครองเอาไว้ จนในที่สุดขอมก็ได้ยอมแพ้ และพ่อขุนบางกลางท่าวก็ได้สถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ มีพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และได้ตั้งกรุงสุโขทัยขึ้น นับตั้งแต่นั้นมา พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ท่านได้สร้างความแข็งแกร่งให้กับกรุงสุโขทัยโดยการรวบรวมอาณาจักรต่างๆ เข้ามารวมกันเป็นหนึ่งเดียว กลายเป็นอาณาจักรสุโขทัย

ในช่วงที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ครองราชย์อยู่นั้น ท่านก็ได้ใช้ระบบการปกครองแบบ พ่อปกครองลูก จนทำให้อาณาจักรสุโขทัยมีความรุ่งเรืองมากขึ้น ช่วงที่อาณาจักรสุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดอยู่ในช่วงของ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ท่านได้ขยายอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัยจนกว้างมาก และทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นมาใช้อีกด้วย หลังสิ้นสุดยุคของพ่อขุนรามคำแหงแล้ว พระเจ้าเลอไท พระราชโอรสได้ครองราชสมบัติ

ต่อมา พระยาลือไท ราชโอรสได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าเลอไท พระราชบิดา ทรงมีพระนามว่า “พระมหาธรรมราชาลิไทย” ก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็นองค์ต่อมา ท่านได้เปลี่ยนระบบการปกครองจาก พ่อปกครองลูก เป็น ธรรมราชา เนื่องจากพระมหาธรรมราชาลิไทยท่านมีความเลื่อมใสทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก และยังทรงออกผนวชระหว่างครองราชย์อีกด้วย แต่ก็ทำให้สุโขทัยขาดความเข้มแข็ง จนไม่สามารถควบคุมประเทศราชไว้ได้ ดังนั้น พระเจ้าอู่ทอง จึงตั้งแข็งเมืองและประกาศอิสรภาพ ไม่ยอมขึ้นตรงต่อสุโขทัย ตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๙๓ เป็นต้นมา นั่นก็คือกรุงศรีอยุธยา ขุนหลวงพะงั่ว เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าอู่ทอง และได้ส่งกองทัพมาทำสงครามตีเมืองต่าง ๆ เป็นระยะเวลา ๗ ปี ตั้งแต่ พ.ศ.๑๙๑๔-๑๙๒๑ แต่ไม่สามารถตีหักเข้าเมืองได้จนกระทั่ง พระเจ้าไสยลือไท (พระมหาธรรมราชาที่ ๒) ขึ้นครองราชย์ กรุงศรีอยุธยาจึงยกกองทัพไปตีเมืองชากังราว (กำแพงเพชร) ซึ่งพระเจ้าไสยลือไท เสด็จมาบัญชาการรบเอง จนขุนหลวงพะงั่วไม่สามารถตีหักเอาเมืองได้ แต่ต่อมาทรงมีพระราชดำริว่า “ถ้าหากขืนรบต่อไปก็คงเอาชนะกองทัพของขุนหลวงพะงั่วไม่ได้” จึงทรงยอมอ่อนน้อมต่อขุนหลวงพะงั่วโดยดี และนับแต่นั้นมา กรุงสุโขทัยก็สูญเสียเอกราช กลายเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา

รัชกาลที่ 1 พ่อขุนศรีอินทราทิตย์
เริ่มครองราชย์ประมาณ พ.ศ. 1792

ในระยะเริ่มต้นอาณาจักร ในสมัยนั้นมีอาณาเขตไม่กว้างขวางนักเมื่ออาณาจักรสุโขทัยได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นอิสระจากขอม เจ้าเมืองต่างๆในดินแดนใกล้เคียงจึงอ่อนน้อมรวมอยู่กับอาณาจักรสุโขทัย แต่เจ้าเมืองบางเมืองคิดว่าตนมีอำนาจเข้มแข็งพอ ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อกรุงสุโขทัย จึงมีการทำสงครามขึ้น ขุนสามชน เจ้าเมืองฉอดได้ยกทัพมาตีเมืองตากซึ่งเป็นเมืองในอาณาเขตของสุโขทัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ จึงยกทัพไปปราบเจ้าเมืองฉอด เกิดสงครามครั้งสำคัญขึ้น ในการรบครั้งนี้พระราชโอรสองค์เล็ก มีอายุ 19 ปี เข้าชนช้างกับเจ้าเมืองฉอดจนได้รับชัยชนะ ทำให้กองทัพเมืองฉอดแตกพ่ายไป พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงประทานนามพระราชโอรสว่า พระรามคำแหง
พ่อขุนศรี อินทราทิตย์ปกครองประชาชนในฐานะบิดากับบุตร ทั้งบิดาและบุตรมีหน้าที่เป็นทหารป้องกันประเทศในยามสงคราม แต่ยามสงบพระมหากษัตริย์เป็นผู้นำในการบริหาร
ราชการแผ่นดิน ด้วยการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎร

พระราชกรณียกิจ
พ่อขุนศรี อินทราทิตย์ เมื่อครั้งยังเป็นพ่อขุนบางกลาวหาวได้ร่วมกับ พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราดแห่งราชวงศ์ศรีนาวนำถุม รวมกำลังพลกัน กระทำรัฐประหารขอมสบาดโขลญลำพง โดยพ่อขุนบางกลางหาวตีเมืองศรีสัชนาลัยและเมืองบางขลงได้ และยกทั้งสองเมืองให้พ่อขุนผาเมือง ส่วนพ่อขุนผาเมืองตีเมืองสุโขทัยได้ ก็ได้มอบเมืองสุโขทัยให้พ่อขุนบางกลาวหาว พร้อมพระขรรค์ชัยศรีและพระนาม “ศรีอินทรบดินทราทิตย์” ซึ่งได้นำมาใช้เป็นพระนาม ภายหลังได้คลายเป็น ศรีอินทราทิตย์ โดยคำว่า “บดินทร” หายออกไป เชื่อกันว่าเพื่อเป็นการแสดงว่ามิได้ เป็น บดีแห่งอินทรปัต คืออยู่ภายใต้อิทธิพลของเขมร (เมืองอินทรปัต) อีกต่อไป การเข้ามาครองสุโขทัยของพระองค์ ส่งผลให้ราชวงศ์พระร่วงเข้ามามีอิทธิพลในเขตนครสุโขทัยเพิ่มมากขึ้น และได้แผ่ขยายดินแดนกว้างขวางมากออกไป แต่เขตแดนเมืองสรลวงสองแคว ก็ยังคงเป็นฐานกำลังของราชวงศ์ศรีนาวนำถุมอยู่
ในกลางรัชสมัย ทรงมีสงครามกับขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด ทรงชนช้างกับขุนสามชน แต่ช้างทรงพระองค์ ได้เตลิดหนีดังคำในศิลาจารึกว่า “หนีญญ่ายพ่ายจแจ” ขณะนั้นพระโอรสองค์เล็ก ทรงมีพระปรีชาสามารถ ได้ชนช้างชนะขุนสามชน ภายหลังจึงทรงเฉลิมพระนามพระโอรสว่ารามคำแหง
ในยุคประวัติศาสตร์ชาตินิยม มีคติหนึ่งที่เชื่อกันว่า พระองค์ทรงเป็นผู้นำชนชาติไทย ต่อสู้กับอิทธิพลขอมในสุวรรณภูมิ ทรงได้ชัยชนะและประกาศอิสรภาพตั้งราชอาณาจักรสุโขทัยขึ้น และทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย แต่ภายหลัง คติดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่จริง เพราะพระองค์ไม่ได้เป็นปฐมกษัตริย์ และไม่ได้เป็นผู้สถาปนารัฐสุโขทัยรัชกาลที่ 2 พ่อขุนบานเมือง
สวรรคตประมาณ พ.ศ. 1822

พ่อขุนบานเมือง ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในพ่อขุนศรีอินทราทิตย์และพระนางเสือง และเป็นสมเด็จพระเชษฐาธิราชในพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เสวยราชสมบัติในอาณาจักรสุโขทัยหลังจากพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เสด็จสวรรคตประมาณประมาณ1822 และครองราชย์อยู่จนถึง พ.ศ. 1822
พ่อขุนบานเมืองได้ทำสงครามกับเมืองต่าง ๆ เพื่อขยายอำนาจ โดยมีสมเด็จพระอนุชาธิราช (พ่อขุนรามคำแหงมหาราช) เป็นแม่ทัพ ดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า “กูไป่ท่บ้านท่เมือง ได้ช้าง ได้งวง ได้ปั่ว ได้นาง ได้เงือน ได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู พ่อกูตายเวนยังพี่กู กูพร่ำบำเรอแก่พี่กู ดังบำเรอแก่พ่อกู” หมายความว่าเมื่อพระรามคำแหงยกทัพไปตีเมืองอื่นจนได้ชัยชนะ ก็นำช้าง ผู้คน ทรัพย์สินเงินทอง มาถวายแด่พระราชบิดา เมื่อพระราชบิดาสวรรคต ก็กระทำอย่างเดียวกันกับพ่อขุนบานเมือง

รัชกาลที่ 3 พ่อขุนรามคำแหง
ประมาณ พ.ศ. 1822-1841

กรุงสุโขทัยโดยการปกครองของพ่อขุนรามคำแหง มีการเปลี่ยนแปลงและเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าไปจากเดิมมาก เพราะเป็นกษัตริย์ที่มีความเข้มแข็งด้านการปกครองและใกล้ชิดราษฎร ไพร่ฟ้าประชาชนมีความอยู่ดีกินดี มีการนำระบบชลประทานมาใช้ทางการเกษตรทำให้ได้ผลผลิตดีขึ้น มีการค้าขายกับต่างประเทศ เศรษฐกิจและการเมืองมั่นคง ขยายอำนาจและอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล จนได้รับการเทิดพระเกียรติว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
พระองค์ทรงชนช้างชนะขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงเชี่ยวชาญด้านการศึกสงคราม จนเป็นที่เกรงขามของอาณาจักรอื่นๆเมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์มีหลายเมืองยอมอ่อนน้อม ทำให้มีอาณาเขตแผ่ขยายออกไปกว้างขวางมากดังนี้
ทิศเหนือ มีอาณาเขตครอบคลุมเมืองแพร่ น่าน
ทิศใต้ มีอาณาเขตครอบคลุมเมืองคณฑี (กำแพงเพชร )
ทิศตะวันออก มีอาณาเขตครอบคลุมเมืองสระหลวง สองแคว
ทิศตะวันตก มีอาณาเขตครอบถึงเมืองฉอด ทวาย
เมืองใดที่มาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารหรือยอมอ่อนน้อมโดยดีแล้ว จะทรงช่วยเหลืออุปการะพระราชทานของกินของใช้และไพร่พลบริวาร ทรงใช้หลักธรรมในการปกครองเพื่อให้ประชาชนพลเมืองอยู่เย็นเป็นสุข ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 1826 ทำให้คนไทยมีตัวหนังสือประจำชาติ มีความเจริญรุ่งเรืองทางวรรณกรรม ทรงทำนุบำรุงศาสนาพุทธสืบต่อ รัชกาลก่อนโดยนิมนต์พระภิกษุที่เคร่งครัดในทางพระธรรมวินัยและพระปรมัตถ์จากเมืองนครศรีธรรมราชมาเป็นผู้สั่งสอน ทรงเป็นผู้นำสร้างชาติให้มั่นคงเป็นแบบอย่างต่อมาคือการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาราษฎร์ด้วยความใกล้ชิด ผู้ใดเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือให้ไปสั่นกระดิ่งที่แขวนไว้ที่หน้าประตูวัง จะเสด็จออกมารับเรื่องร้องทุกข์ด้วยพระองค์เอง จึงทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบร่มเย็นเป็นสุข ทรงให้ความอุปถัมภ์สนับสนุนหัวเมืองตามโอกาสเป็นต้นว่ายกพระราชธิดาให้ มะกะโท ( พระเจ้าฟ้ารั่ว ) ผู้นำอาณาจักรขอมซึ่งเข้ามาสวามิภักดิ์

การทหาร
ความเป็นนักรบของพระองค์นั้น เห็นได้ตั้งแต่ยังมิได้ครองราชย์ พระองค์ทรงได้รับชนะในการกระทำ ยุทธหัตถี กับขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด ในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พระราชบิดา และทรงเป็นจอมทัพในการทำสงครามขยายอาณาเขตตลอดรัชสมัยของพระบิดา และพ่อขุนบานเมือง

การเมือง
พระองค์ทรงมีพระเมตตาเอาพระทัยใส่ในทุกข์สุขของประชาชน โดยการสนับสนุนการประกอบอาชีพอย่างเสรี ทรงยกเลิกจังกอบ ซึ่งเป็นภาษีที่คิดตามความกว้างของเรือ ให้กรรมสิทธิที่ดินทำกิน ตลอดจนเสรีภาพให้แก่ราษฎร

การทูต
พระองค์มีนโยบายกระชับมิตรกับดินแดนต่างๆทั้งที่ใกล้เคียง และแม้แต่ดินแดนอันห่างไกลที่มีอำนาจ เช่น ล้านนา พะเยา ศิริธรรมนคร (นครศรีธรรมราช) ตลอดจนถึงจีน นอกจากนี้ยังปรากฏทรงให้ความช่วยเหลือสนับสนุนรัฐที่มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารด้วย เช่น มอญ และล้านช้างเป็นต้น

การศาสนาและปรัชญา
พระองค์นั้นทรงเห็นความสำคัญของพระศาสนา พระองค์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก และสนับสนุนทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ดังปรากฏว่า พระองค์ทรงนิมนต์พระเถระจากเมืองศิริธรรมนคร มาสถาปนาพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ในสุโขทัย ทรงจัดสร้างพระอารามทั้งในและนอกราชธานี รวมทั้งทรงสนับสนุนการเผยแผ่หลักธรรมและการสร้างศาสนวัตถุอีกด้วย นอกจากพระราชกรณียกิจทางด้านพระศาสนาแล้วยังมีความสำคัญเช่นกันคือ ทรงส่งเสริมความเจริญทางภูมิปัญญาศิลปวัฒนธรรมที่โดดเด่น คือ การประดิษฐ์อักษรไทย หรือ ลายสือไทย เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงการประดิษฐ์ลายสือไทย จนถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในรัชสมัยของพระองค์อีกด้วย และเนื่องจากพระองค์ทรงทำคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ปวงชนชาวไทย จึงยกย่องให้พระองค์ทรงเป็น “มหาราช” พระองค์แรกแห่งประวัติศาสตร์ไทย

ข้อมูลส่วนพระองค์
พระปรมาภิไธย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
พระอิสริยยศ พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัย
พระราชบิดา พ่อขุนศรีอินทราทิตย์
พระราชมารดา พระนางเสือง

การครองราชย์
ราชวงศ์ ราชวงศ์พระร่วง

ทรงราชย์ พ.ศ. 1822 – พ.ศ. 1860 (โดยประมาณ)
ระยะเวลาครองราชย์ 40 ปี (โดยประมาณ)
รัชกาลก่อนหน้า พ่อขุนบานเมือง

รัชกาลถัดมา พญาไสสงคราม